: เครื่องเบญจรงค์ เป็นงานหัตถศิลปล้ำค่า ที่มีความสวยงามแสดงถึงวิถีวัฒนธรรม รสนิยม และเอกลักษณ์ของไทย รัฐบาลจึงเลือกนำมาเป็นภาชนะสำหรับจัดเลี้ยงอาหารค่ำ ต้อนรับผู้นำประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเซีย และแปซิฟิค (เอเปค 2003) ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯระหว่างวันที่ 20 – 21 ตุลาคม (พ.ศ. 2546) นี้ นอกจากนี้ยังจัดทำเป็นของที่ระลึกเพื่อมอบให้กับผู้นำประเทศต่าง ๆ อีกด้วย
เครื่องเบญจรงค์มีการผลิตขึ้นครั้งแรกเมื่อใด ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานจากการขุดพบที่พระนครศรีอยุธยา และจากลักษณะของลวดลาย สี เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับเครื่องถ้วยจีน และบางชิ้นที่มีเครื่องหมายบอกรัชกาล เชื่อว่ามีการสั่งทำเครื่องเบญจรงค์จากประเทศจีนมาตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยช่างคนไทยจะเป็นผู้วาดลวดลาย และเขียนสี ส่งไปผลิตในจีน ดังนั้นลักษณะของเครื่องเบญจรงค์จึงมีความงดงามอย่างไทย ยิ่งกว่าเครื่องปั้นดินเผาประเภทอื่นๆ แม้แต่เครื่องสังคโลกซึ่งเป็นของไทย ผลิตในประเทศไทย ก็ยังไม่แสดงเอกลักษณ์ไทยอย่างเครื่องเบญจรงค์
ภาชนะที่ผลิตจากเบญจรงค์มีหลายประเภท ได้แก่ ชาม จาน โถ จานเชิง ชามเชิง ช้อน กระโถน กาน้ำ ชุดถ้วยชา ฯลฯ การใช้สีบนเครื่องเบญจรงค์ นิยมใช้ห้าสี แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีตั้งแต่ สี่สี ไปจนถึงเจ็ดแปดสีก็มี สีหลักที่ใช้ได้แก่ แดง เหลือง ขาว ดำ เขียว หรือน้ำเงิน สีอื่นได้แก่ ชมพู ม่วง แสด น้ำตาล
ในสมัยก่อนมีการสั่งทำเครื่องเบญจรงค์สำหรับใช้ในราชสำนัก วังเจ้านาย และบ้านขุนนางชั้นสูง แต่ปัจจุบัน (พ.ศ. 2546) เครื่องเบญจรงค์ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย มีการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งยุโรป และเอเซีย สร้างชื่อเสียงและทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมากมาย ลวดลายที่เขียนบนเครื่องเบญจรงค์ เป็นลายโบราณที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ได้แก่ ลายเทพพนมนรสิงห์ ลายบัวเจ็ดสี ลายประจำยาม ลายเบญจมาศ ลายวิชาเยนท์ ฯลฯ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีลายที่นิยมเพิ่มขึ้นได้แก่ ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ ลายนกไม้พญาสิงขร ลายกุหลาบทอง ฯลฯ
สำหรับเบญจรงค์ที่มอบให้กับผู้นำเอเปคครั้งนี้ มีทั้งหมด 6 ชิ้น โดยร้านปิ่นสุวรรณเบญจรงค์ ซึ่งเป็นร้านเบญจรงค์เก่าแก่ที่อนุรักษ์ลายโบราณ ตั้งอยู่ที่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ ช่างของร้านได้เลือกลายวิชาเยนท์เขียน ลงบนเบญจรงค์ชุดดังกล่าว ซึ่งเป็นลวดลายที่มีความโดดเด่นในการผูกลาย ผสมผสานความเป็นตะวันตก และตะวันออกได้อย่างลงตัว อีกทั้งสะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทย
ความพิเศษของเบญจรงค์ชุดนี้ อยู่ที่เป็นงานฝีมือ หรือที่เรียกว่า หัตถกรรมล้วน ๆ ในกรรมวิธีลงลายน้ำทอง และยังใช้น้ำทองคำจริง 22 กะรัตนำเข้าจากประเทศเยอรมนี ช่วยเพิ่มความงดงามล้ำค่าให้กับเครื่องเบญจรงค์ดังกล่าวยิ่งขึ้น เป็นที่น่าภูมิใจที่ไทยเรามีหัตถศิลปอันงดงาม ซึ่งนอกจากจะสามารถสร้างความประทับใจแก่ชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นแล้ว ยังได้เผยแพร่ความเป็นไทยให้คนทั่วโลกได้ประจักษ์อีกด้วย superslot 888